วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

สถาปัตยกรรมไม้ ที่งดงามที่สุดในภาคอีสาน
หอไตรวัดทุ่ง ศรีเมือง
              หอไตรมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่าหอพระไตรปิฎก เป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์พระธรรมวินัยและตำราวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ซึ่งในสมัยก่อนมีเป็นจำนวนน้อย เพราะไม่สามารถผลิตได้ทีละมาก ๆ เนื่องจากต้องคัดลอกหรือจารขึ้นด้วยมือ อาคารที่สร้างขึ้นจึงมีลักษณะมิดชิดเป็นพิเศษ โครงสร้างแข็งแรงและมีขนาดเล็ก สร้างด้วยเครื่องไม้ลักษณะเป็นเรือนไทย ส่วนใหญ่จะสร้างอยู่กลางสระน้ำ เพื่อป้องกันหนู ปลวก มด และแมลงที่จะมาทำลายหนังสือสมุดไทยหรือใบลานผูก นอกจากนี้ ไอชื้นจากสระน้ำที่อยู่ใต้อาคารและโดยรอบจะช่วยให้อาคารชุ่มเย็น เป็นการรักษาใบลานและเอกสารสำคัญให้มีอายุยืนนานกว่าปกติ ส่วนหอไตรที่สร้างบนพื้นราบนั้นมักจะทำใต้ถุนสูง ไม่มีบันได เมื่อใช้จึงจะนำบันไดมาพาดอีกทีหนึ่ง

                 หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในหอไตรของภาคอีสานที่งดงามที่สุด แตกต่างจากหอไตรแห่งอื่น ๆ ด้วยลักษณะของศิลปะผสมระห่าง ๓ สกุลช่าง คือ ไทย พม่า และลาว กล่าวคือ มีลักษณะตัวอาคารเป็นแบบไทย ประกอบด้วยเรือนฝาปะกนขนาด ๔ ห้อง ผนังภายในห้องเขียนลายลงรักปิดทอง มีรูปทวารบาลอยู่ที่บานหน้าต่างและบานประตูที่ทำด้วยไม้แผ่นเดียว ส่วนของหลังคาเป็นศิลปะไทยผสมพม่า มีช่อฟ้า ใบระกาแบบไทย ส่วนหลังคาซ้อนกันหลายชั้นเป็นศิลปกรรมแบบพม่า และลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้งสองด้านเป็นลักษณะศิลปะลาวที่ทำด้วยฝีมือช่าง ชั้นสูง หอไตรแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และได้รับรางวัลผลงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็น ๑ ใน ๓ ของดีเมืองอุบลฯ สมัยก่อน จนมีคำกล่าวติดปากกันต่อ ๆ มาว่า “พระบาทวัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง”

 ในส่วนของวัดทุ่งศรีเมืองอันเป็นที่ตั้งของหอไตรอันงดงามนี้ เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานีมาแต่สมัยโบราณ ก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๒๓๘๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยญาครูช่าง พระสงฆ์ชาวเวียงจันทน์ มีพื้นที่ ๑๙ ไร่ ๒๓ ตารางวา เดิมเป็นทุ่งนา จึงได้นามว่าวัดทุ่งศรีเมืองตามประวัติกล่าวว่า ผู้สร้างวัดนี้คือท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีรูปแรกเนื่องจากท่านเคยมาธุดงค์อยู่ ณ ที่แห่งนี้เนือง ๆ จึงได้สร้างวัดบริเวณนี้เริ่มด้วยการสร้างสิมหรือพระอุโบสถ ซึ่งเดิมเรียกว่าหอพระบาท ต่อมาจึงได้สร้างหอไตรกลางน้ำและกุฏิพระสงฆ์สามเณรขึ้นอีก

          ภายในวัดทุ่งศรีเมืองนอกจากจะมีหอไตรกลางน้ำอันน่าชมแล้วยังมีหอ พระบาทหรือพระอุโบสถ ซึ่งสร้างแบบสถาปัตยกรรมผสมระหว่างศิลปะเวียงจันทน์และศิลปะรัตนโกสินทร์ เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ส่วนที่เป็นศิลปะแบบเวียงจันทน์ได้แก่โครงสร้างช่วงล่าง เช่น ฐานเอวขันธ์ บันไดจระเข้ และเฉลียงด้านหน้า ส่วนที่เป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ได้แก่ช่วงบน เช่น ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ภายในหอพระบาทมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ทั้ง ๔ ด้าน เป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติ ภาพวิถีชีวิตของผู้คนพลเมืองทั้งชาวไทยและชาวจีนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ และชีวิตผู้คนภายในรั้ววัง รวมทั้งภาพอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีน อันเป็นศิลปะที่นิยมสร้างกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ สิ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากภายในวัดนี้ก็คือ พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง ซึ่งเดิมเป็นพระประธานที่วัดเหนือท่า เมื่อวัดร้างจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญและวิหารศรีเมืองของ วัด เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพักต์งดงามคล้ายคลึงพระเหลาเทพนิมิต อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ

          หอไตรวัดทุ่งศรีเมืองได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง คนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๗ กรมศิลปากรจัดงบประมาณมาสนับสนุนในการบูรณะอีก ตัวอาคารส่วนรวมจึงมีสภาพดีและอยู่เป็นศรีเมืองอุบลราชธานีมาตราบเท่าทุก วันนี้

วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

หลบร้อน ไปรับลม ที่..หาดสวนสนประดิพัทธ์

เมื่อถึงเวลาในช่วงหน้าร้อนกันแล้ว ที่แน่ๆขึ้นชื่อว่าหน้าร้อนอากาศก็ต้องร้อนเป็นที่แน่ๆอยู่แล้ว ยังจะมาเจอ การเมืองที่เดือดระอุอีก ณ สถานการณ์แบบนี้     หมูหิน.คอมเลยหนีจากความวุ่นวายสักครู่ มาเพิ่งความเงียบสงบกับหาดทรายสวยที่…หาดสวนสนประดิพัทธ์

           หาดสวนสนประดิพัทธ์” ตั้งอยู่ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ห่างจากหัวหินไปตามถนนเพชรเกษมประมาณ 9 กิโลเมตร มีทางแยกจากถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 240 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 500 เมตร ถ้าหากไม่มีเขาตะเกียบคั่นกลางระหว่างหาดหัวหิน และหาดสวนสนประดิพัทธ์ ทั้งสองหาดก็คือหาดเดียวกัน ความสวยงามของสายน้ำ เม็ดทราย กลิ่นอายทะเลคล้ายกันมาก แต่เสน่ห์ของหาดสวนสนที่น่าประทับใจกว่า คือ บรรยากาศที่เงียบสงบ ลมเย็น ร่มรื่นด้วยทิวสนประดิพัทธ์ตลอดแนวหาด เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหลบร้อนมาพักผ่อน นอนเล่น กิมลมชมวิว กับบรรยากาศชิวๆ เป็นที่สุด แถมระดับน้ำทะเลก็ไม่ลึก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถลงเล่นน้ำได้สบายๆ
           ที่มาของหาดสวนสนประดิพัทธ์ นั่นก้อคือ “สวนสนประดิพัทธ์” ที่อยู่ติดกับชายหาด จึงเป็นที่มาของชื่อหาดสวนสนประดิพัทธ์นั่นเอง ภายในสวนสนประดิพัทธ์ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร ห้องอาบน้ำจืด ฯลฯ
            นับว่าเป็นหาดสวนสนประดิพัทธ์เป็นหาดอีกแห่งหนึ่งที่มี บรรยากาศเงียบสงบ สภาพโดยทั่วไปเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากอยู่ในความดูแลของศูนย์การทหารราบ ส่วนของชาดหาดแทบไม่ต้องพูดถึงเมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว ชวนให้หลงใหลอยากนั่งพักพิงกายาลงบริเวณชายหาดเลย ยิ่งไปกว่านั้นน้ำที่ใสสะอาดตาทำให้อยากลงเล่นน้ำบัดเดี่ยวนั้นเลย ช่างเป็นความส่วนตัวเหมาะแก่การเข้าพักผ่อนหย่อนใจเป็นครอบครัวยิ่งนัก ความร่มรื่นของทิวสนประดิพัทธ์นั้นให้อากาศเย็นสบายมาก นอกจากนี้ทางริมหาดมีที่พัก ร้านอาหาร ห้องอาบน้ำไว้บริการด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก Moohin

 

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553


            เดินเที่ยวเชียงใหม่วันนี้ไม่เหงา เพราะมีตลาดสุดฮิป ชื่อว่าโฮะ! ภาษาเหนือแปลว่า รวม หากว่าเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วใส่เครื่องหมายตกใจ จะกลายเป็นคำอุทาน HO!
เป็น ที่เข้าใจกันทั่วโลกว่า แปลกใจ!

         แปลกใจตรงที่ ค่ำคืนเชียงใหม่ในวันธรรมดา นอกจากผับและร้านอาหารแล้วไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจในมุมมองนักท่องเที่ยว แต่ วันนี้ ทุกคืนวันศุกร์และเสาร์ ในหัวถนนนิมมานเหมินทร์ (ประมาณทองหล่อกรุงเทพนั่นแหละ) เชียงใหม่ ผุดตลาดนัดสุดฮิปขึ้น สีสันยามค่ำคืน อารมณ์รัชดาไนท์


           มีรถโฟลค์ตู้สวยๆมาออกร้านกัน บ้างขายน้ำ บ้างขายของเก่า บ้างขายงานศิลปะ




ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือน กลุ่มคนรักพิทบูลเชียงใหม่จะมานัดพบกัน มีสุนัขสวยๆกว่า 40 ตัว มาทำกิจกรรมกันในตลาดโฮะ!
เช่น สุนัขลากน้ำหนักอะไรประมาณนั้น ตอนที่ไปดูเป็นวันเปิดท้ายคลาสสิค กลุ่มพิทบูลมาร่วมแจม
        ตอนแรกนึกว่าคนมุงอะไรกันเป้นร้อย พอมาใกล้ๆก็ต้องไปมุมดูกับเขาด้วย เป็นเหมือนแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ของชาวเชียงใหม่จริงๆ
จะมีทุกคืนวันศุกร์ และเสาร์ ตั้งแต่ ห้าโมงเย็นเป็นต้นไป ถึงห้าทุ่ม
สี่แยกรินคำ หัวถนนนิมมานเหมินทร์ ณ ลานธิ้งค์ปาร์ค เชียงใหม่

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ปราสาทภูมิโปน


ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ
            
              ปราสาทอิฐหลังที่ 1  อยู่ทางด้านเหนือสุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม เหลือเพียงฐาน กรอบประตูทางเข้า และผนังบางส่วน  ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทรายสลักลวดลาย ลักษณะเทียบได้กับศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร แบบไพรเกมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่12-13
           
             ปราสาทหินหลังที่ 2  อยู่ต่อจากปราสาทหินหลังแรกมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและกรอบประตูหินทราย
           
             ปราสาทหินหลังที่ 3 หรือปรางค์ประธาน เป็นปราสาทหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสไม่ย่อมุม มีบันได และประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก  เสาประดับ กรอบประตู และทับหลังทำด้วยหินทราย ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปเป็นลายรูปใบไม้ม้วน รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้าง เทียบได้กับปราสาทขอมสมัยก่อนพระนคร ร่วมสมัยกับปราสาทหลังที่ 1 ได้พบจารึกเป็นภาษาสันสกฤตด้วยอักษรปัลลวะ ซึ่งเคยใช้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่12-13 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของรูปแบบศิลปะของปราสาท นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
   
           ปราสาทหินหลังที่ 4  อยู่ต่อจากปราสาทประธานมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานศิลาแลงเท่านั้น ปราสาทหลังนี้และปราสาทหลังที่สองคงสร้างในสมัยต่อมาซึ่งไม่อาจกำหนดอายุได้ ชัดเจน จากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น เสาประดับ กรอบประตูที่เหลืออยู่เป็นเสาแปดเหลี่ยมอันวิวัฒนาการมาจากเสากลมในสมัยก่อน เมืองนคร ตลอดจนการก่อฐานปราสาทด้วยศิลาแลง ทำให้สามารถกำหนดได้ว่า ปราสาททั้งสองหลังนี้คงจะสร้างขึ้นหลังจากปราสาทประธาน และปราสาทหลังที่หนึ่ง
ปราสาทภูมิโปนเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณหรือชุมชนโบราณที่มีระบบการปกครอง แบบเมือง  สังเกตได้จากบริบทปราสาทมีคูกำแพงเมือง เขื่อนดินโบราณ และสระน้ำ โดยเฉพาะน้ำเป็นระบบชลประทานถูกออกแบบอย่างสวยงามไล่จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ  มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สระลำเจียก สระตา สระกนาล สระตราว และสระปรือ เรียงลำดับจากสระน้ำขนาดเล็กอยู่สูงสุด  และขนาดใหญ่หรือกว้างอยู่ต่ำสุดและเชื่อมต่อกัน นับว่าเป็นระบบการจัดการน้ำที่ดีมาก  ปัจจุบันยังไม่มีใครบุกรุก หรือครอบครอง ควรแก่การพัฒนา
ตำนานปราสาทภูมิโปน และ เนียง ด็อฮ ทม
ตำนาน เนียง ด็อฮ ทม ราชธิดาขอมผู้ปกครองเมืองภูมิโปนองค์สุดท้าย เป็นตำนานของปราสาทภูมิโปน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มีเรื่องเล่าว่า ที่สระลำเจียก ห่างจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร มีกลุ่มต้นลำเจียกขึ้นเป็นพุ่มๆ ต้นลำเจียกที่สระน้ำแห่งนี้ไม่เคยมีดอกเลย ในขณะที่ต้นอื่นๆนอกสระต่างก็มีดอกปกติ ความผิดปกติของต้นลำเจียกที่สระลำเจียกหน้าปราสาทจึงเป็นที่มาของตำนาน ปราสาทภูมิโปน การสร้างเมืองและการลี้ภัยของราชธิดาขอม

                กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบ มีข้าศึกมาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิ โปน พระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์ หรือ เนียง ด็อฮ ทม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่
กล่าวถึงเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งได้ส่งพรานป่าเจ็ดคน พร้อมเสบียงกรังและช้าง 1 เชือก ออกล่าจับสัตว์ป่าเพื่อจะนำมาเลี้ยงในอุทยานของพระองค์ พรานป่ารอนแรมจนมาหยุดพักตั้งห้างล่าสัตว์อยู่ที่ ตระเบีย็ง เปรียน แปลว่าหนองน้ำของนายพราน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านตาพรามในปัจจุบั ในที่สุดกลุ่มพรานสามในเจ็ดคน ก็ดั้นด้นจนไปพบปราสาทภูมิโปน และไปได้ยินกิตติศัพท์ความงามของพระนางศรีจันทร์เข้า พรานทั้งเจ็ดจึงได้ปลักลอบแอบดูพระนางศรีจันทร์สรงน้ำ และเห็นว่านางมีความงามสมคำร่ำลือจริง จึงรีบเดินทางกลับเพื่อไปรายงานพระราชา พระราชายินดีปรีดามากรีบจัดเตรียมกองทัพเพื่อไปรับนางมาเป็นพระชายาคู่บารมี
ฝ่ายพระนางศรีจันทร์หลังจากวันที่ไปสรงน้ำก็เกิดลางสังหรณ์ กระสับกระส่ายว่ามีคนมาพบที่ซ่อนของนางแล้ว เมื่อบรรทมก็ฝันว่าได้ทำกระทงเสี่ยงทาย ใส่เส้นผมเจ็ดเส้น อันมีกลิ่นหอมเเละเขียนสาส์นใจความว่าใครเก็บกระทงของนางได้นางจะยอมเป็นคู่ ครอง ในกระทงยังให้ช่างเขียนรูปของนางใส่ลงไปด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงได้จัดการทำตามความฝัน(ด้วยการที่นางเอาผมใส่ในผอบ เครื่องหอม ผมนางจึงหอม นางจึงได้ชื่อว่า เนียง ช็อก กระโอบ หรือนางผมหอมอีกชื่อหนึ่ง) และนำกระทงไปลอย ณ สระลำเจียกหน้าปราสาท กระทงของนางได้ลอยไปยังอีกเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองโฮลมาน และราชโอรสของเมืองนี้ได้เก็บกระทงของนางได้ ทันทีที่เจ้าชายเปิดผอบก็หลงรักนางทันที เจ้าชายโอลมานนั้นมีรูปร่างไม่หล่อเหลา แต่มีฤทธานุภาพมากในเรื่องเวทย์มนต์คาถาและได้ชื่อว่ารักษาคำสัตย์เป็นที่ ตั้ง พระองค์จึงไปสู่ขอนางตามประเพณีเพราะเป็นผู้เก็บผอบได้ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อพระนางศรีจันทร์ได้เห็นรูปร่างของเจ้าชายโฮลมานนางจึงได้แต่นิ่งอึ้ง และร้องไห้ เจ้าชายโฮลมานทรงเข้าพระทัยดีเพราะรู้ตัวว่าตัวเองมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อพระนางศรีจันทร์ พระองค์จึงไม่บังคับที่จะเอาตัวนางมาเป็นชายา กลับช่วยพระนางขุดสระสร้างกำแพงเมือง และสร้างกลองชัยเอาไว้ เพื่อให้พระนางตียามมีเหตุเดือดร้อนต้องการให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะมาช่วยเหลือนางโดยทันที โดยห้ามตีด้วยเหตุไม่จำเป็นเป็นอันขาด
กล่าวถึงชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มาหลงรักพระนางศรีจันทร์ นั่นคือบุญจันทร์นายทหารคนสนิทที่พระราชบิดาของพระนางศรีจันทร์ไว้วางพระราช หฤทัยให้รับใช้ใกล้ชิดพระนางศรีจันทร์ ด้วยความใกล้ชิดทำให้บุญจันทร์หลงรักพระนางศรีจันทร์ แต่พระนางศรีจันทร์ก็ไม่ได้มีใจตอบกับบุญจันทร์ ยังคงคิดกับบุญจันทร์แค่เพื่อนสนิทเท่านั้น วันหนึ่งบุญจันทร์ได้เห็นกลองชัยที่เจ้าชายโฮลมานให้พระนางไว้ ก็นึกอยากตี จึงไปร่ำร้องกับพระนางทุกเช้าเย็น อยากจะขอลองตีกลอง พระนางทนไม่ไหวพูดประชดทำนองว่า ถ้าอยากตีก็ตีไป เพราะคงจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว บุญจันทร์หน้ามืดตามัวด้วยคิดว่านางมีใจให้เจ้าชายโฮลมาน ก็ไปตีกลอง เจ้าชายโฮลมานและไพร่พลก็ปรากฏตัวขึ้นทันทีเพราะนึกว่าพระนางศรีจันทร์มี เหตุร้าย พระนางศรีจันทร์เสียใจมากเมื่อต้องบอกถึงเหตุผลที่ตีกลองให้เจ้าชายทราบ เจ้าชายโฮลมานตำหนิพระนางและเป็นอันสิ้นสุดสัญญาที่ให้ไว้กับพระนางทันที พระองค์จะไม่มาช่วยเหลือพระนางอีกแล้วแม้จะตีกลองเท่าไหร่ก็ตาม
กล่าวฝ่ายพระราชาที่ส่งพรานป่าเจ็ดคน มาล่าสัตว์แล้วมาพบพระนางในตอนแรกนั้นก็ส่งทัพมาล้อมเมืองภูมิโปนไว้ พระนางจึงหนีเข้าไปหลบภัยในปราสาทเเละคิดที่จะยอมตายเสียดีกว่า เพราะคนที่มาหลงรักพระนางแต่ละคนนั้น คนหนึ่งแม้จะเพียบพร้อมก็มีความอัปลักษณ์ คนหนึ่งก็มีความต่างศักดิ์ ด้านชนชั้นจนไม่อาจจะรักกันได้ และยังมีข้าศึกมาประชิดเมืองหมายจะเอาพระนางไปเป็นชายาอีก พระนางจึงพยายามหลบไปด้านที่มีการยิงปืนใหญ่ตั้งใจจะโดนกระสุนให้ตาย แต่พระนางก็กลับไม่ตายแต่ได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายหักและมีแผลเหนือราวนมด้านซ้ายเล็กน้อย(ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านดม-ภูมิ โปนจะสังเกตเด็กผู้หญิงคนใดมีลักษณะแขนด้านซ้ายเหมือนเคยหัก และมีแผลเป็นเหนือราวนมด้านซ้าย จะสันนิษฐานว่าพระนางด็อฮ ทม กลับชาติมาเกิด) เมื่อพระราชาตีเข้าเมืองได้จึงรีบรักษานาง ไม่ช้าพระนางก็หาย พระราชาจึงเตรียมยกทัพกลับและจะนำพระนางกลับเมืองด้วย พระนางจึงขออนุญาตพระราชาเป็นครั้งสุดท้ายขอไปอาบน้ำที่สระลำเจียก และปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่งพร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่นี่ ขอให้ต้นลำเจียกอย่าได้ออกดอกอีกเลย หลังจากนั้นพระนางก็ถูกนำสู่นครทางทิศตะวันตก ไปทางบ้านศรีจรูก พักทัพและฆ่าหมูกินที่นั่น (ซี จรูกแปลว่ากินหมู) ทัพหลังตามไปทันที่บ้านทัพทัน (ซึ่งกลายเป็นชื่อบ้านในปัจจุบัน) และเดินทางต่อมายังบ้านลำดวน พักนอนที่นั่น มีการเลี้ยงฉลองรำไปล้มไป รำล้มในภาษาเขมรคือ เรือ็ม ดูล ซึ่งเป็นชื่อของ อ.ลำดวนในปัจจุบัน 

               ปราสาทภูมิโปนตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สายสุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตรจากแยกอำเภอสังขะเข้าทางหลวงหมายเลข 2124 (สังขะ-บัวเชด) ตรงต่อไปจนถึงบ้านภูมิโปนอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาทอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ


วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

เชิญเที่ยวงานหัวหินรำลึกและงานกาชาด ประจำปี 2553
HuaHin Festival 2010
วันที่ 28 เมษายน - 9 พฤษภาคม 2553
ณ สวนหลวงราชินี อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์




                 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับอำเภอหัวหินและเทศบาลเมืองหัวหิน โดยความสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานประจวบฯ ร่วมจัดงาน “หัวหินรำลึก และงานกาชาด ณ บริเวณสวนหลวงราชินี (19ไร่) ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-9 พ.ค. 2553

        นางปิ่นนาถ  เจริญผล ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานประจวบฯ  กล่าวว่า ถ้าพูดถึงหัวหินในปัจจุบันเป็นที่รู้จักดีของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาว ต่างชาติ เนื่องจากในสมัยอดีตเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียง โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับพักผ่อนในฤดูร้อน และได้ทรงสร้างพระราชวังไกลกังวลขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ และพระราชวังแห่งนี้ก็เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวหัวหิน จนถึงปัจจุบัน และในยุคสมัยต่อ ๆ มา ชุมชนขนาดเล็กของหัวหินได้เติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงสมัยที่มีการสร้างทางรถไฟสายใต้มาถึงหัวหิน ในปี 2454 และมีการสร้างบ้านพักตากอากาศของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ มีโรงแรมรถไฟแห่งแรก มีหาดทรายชายทะเลที่สวยงามจึงได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญจนถึง ปัจจุบัน และมีนักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนมิได้ขาด จนได้ชื่อ หัวหินถิ่นมนต์ขลัง และในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวกลับมาย้อนวันวานหวนหาอดีตเมืองตาก อากาศ 100 ปี ที่หัวหิน โดย อ.หัวหินและเทศบาลเมืองหัวหิน ได้จัดงาน “หัวหินรำลึก และงานกาชาด” ซึ่งภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เปิดงานด้วยขบวนเทิดพระเกียรติฯ ฉลองราชาภิเษกสมรส ครบ 60 ปี จากหอนาฬิกาหัวหิน ไปยัง สวนหลวงราชินี (19 ไร่) กิจกรรมลีลาศย้อนยุคดนตรีสุนทราภรณ์เต็มวง การเดินแฟชั่นโชว์ย้อนยุคของ VIP ในเมืองหัวหิน 30-40 คู่ ผู้มาร่วมงานร่วมแต่งกายย้อนยุค ชมการประกวดนางงามหัวหินในชุดเครื่องแต่งกายย้อนยุค และการแสดงศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชนของชาวหัวหิน และวงดนตรีชั้นนำ มีการจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ฯลฯ ททท.ประจวบฯ จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวมาร่วมย้อนวันวานในงาน “หัวหินรำลึก และงานกาชาด ประจำปี 2553”เพื่อสัมผัสความเปลี่ยนแปลงของหัวหินจากอดีตจนถึงปัจจุบัน กว่าจะเป็นหัวหินวันนี้ด้วยกันนะคะ

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

เที่ยวสบายสไตล์ย้อนยุค สามชุกตลาดร้อยปี
 


                 เป็นตลาดห้องแถวไม้ 2 ชั้นขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี(ท่าจีน) และรายล้อมด้วยบรรยากาศของบ้านเรือนรวมถึงเรื่องราวของผู้คนในอดีต โดยแทบไม่มีการดัดแปลงเสริมแต่ง ย้อนอดีต กลับไปยุคสมัยที่ตลาดสามชุกเฟื่องฟู ยุคนั้นชาวบ้านจะนำของพื้นเมือง รวมทั้ง เกลือ ฝ้าย แร่ สมุนไพร มาแลกเปลี่ยนซื้อขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ
ต่อมาเมื่อริมแม่น้ำสุพรรณ กลายเป็นแหล่งทำนาที่สำคัญ มีโรงสีไฟขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่ง ตลาดสามชุกก็กลายเป็นตลาดข้าวที่สำคัญ มีการค้าขายกันอย่างคึกคัก ทำให้ตลาดสามชุกไม่จำกัดบริเวณอยู่เฉพาะริมน้ำ แต่ยังขยายมาถึงริมฝั่ง โดยแต่ละปีมีการเก็บภาษีได้จำนวนมาก พร้อมๆกับมีการตั้งนายอากรคนแรก ชื่อ “ขุนจำนง จีนารักษ์”
            ช่วงเวลาเฟื่องฟูของตลาดสามชุกกินเวลานานหลายสิบปี แต่หลังจากที่มีการตัดถนนผ่านสามชุก ผู้คนเปลี่ยนไปใช้ถนนเป็นเส้นทางสัญจรมากขึ้น ส่งผลให้ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการค้าที่ตลาดสามชุกเริ่มซบเซา แต่ตลาดสามชุกก็ยังคงดำเนินวิถีของตลาดห้องแถวไปอย่างต่อเนื่อ
            ด้วยความที่ วิถีชีวิตและลักษณะทางกายภาพของชุมชนตลาดสามชุกมีกาลเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แม้ว่าจะผ่านกาลเวลามานับร้อยปี เหตุนี้ประชาคมชาวตลาดสามชุกจึงได้มีการปรับปรุง ฟื้นฟู และร่วมกันอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไม้ของตลาดสามชุกไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เพื่อให้ตลาดสามชุกกลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งค่ะ

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

เที่ยวตามประเพณี ไหว้พระธาตุปีเกิด 12 ปีนักษัตร
 
 
     คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด
           ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับปีเกิดและการนับอายุของแต่ละคนเป็น ที่รับรุ้กันแพร่หลาย ในแต่ละปีนักษัตรจึงกำหนดด้วยสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประจำปีเกิด หรือที่เรียกว่า ๑๒ นักษัตร
             สำหรับในดินแดนภาคเหนือของไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรยังสัมพันธ์กับคติการบุชาพระบรมธาตุ ดังปรากฏเป็นประเพณีการชุธาตุหรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด โดยครั้งหนึ่งในชีวิตควรมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเพื่อ ความเป็นสิริมงคล ในคติล้านนาพระธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิดได้แก่
             พระธาตุประจำปีชวด      พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่
             พระธาตุประจำปีฉลู        พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
             พระธาตุประจำปีขาล      พระธาตุช่อแฮ แพร่
             พระธาตุประจำปีเถาะ      พระธาตุแช่แห้ง น่าน
             พระธาตุประจำปีมะโรง    พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่
             พระธาตุประจำปีมะเส็ง    พระศรีมหาโพธิหรือต้นโพธิ์
             พระธาตุประจำปีมะเมีย   พระธาตุชเวดากอง พม่า
             พระธาตุประจำปีมะแม    พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
             พระธาตุประจำปีวอก      พระธาตุพนม นครพนม
             พระธาตุประจำปีระกา     พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
             พระธาตุประจำปีจอ        พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
             พระธาตุประจำปีกุน        พระธาตุดอยตุง เชียงราย

            คำว่า พระธาตุ มีความหมายสองนัยคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่หรือพระเจดีย์ที่มีพระบรมธาตุบรรจุ โดยแต่ละแห่งจะมีตำนานที่เล่ามูลเหตุการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งสัมพันธ์ กับการเสด็จโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าในดินแดนต่าง ๆ สถานที่ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เหล่านี้มักจะกลายเป็นเมืองสำคัญในเวลาต่อมา
 
          ลักษณะของพระธาตุ
        
ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่บรรยายไว้ในตำนานมีลักษณะเหมือนถั่ว แตก หรือข้าวสารหัก หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาด กลมเกลี้ยงขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีสีทองอุไร สีแก้วผลึก หรือแก้วมุกดา สีดอกพิกุล บางองค์มีรูทะลุได้
ตามปกติจะบรรจุพระบรมธาตุไว้ใต้ฐานเจดีย์ หรือเรือนธาตุ โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถนำออกมาได้ เว้นแต่พระธาตุศรีจอมทอง และนอกจากการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีการบูชาพระธาตุของพระอรหันต์หรือพระสาวกด้วย

                การบูชาพระธาตุ
          สมัยโบราณมักจะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอมและข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาด อาจเจือด้วยน้ำหอม เนื่องจากองค์พระบรมธาตุส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์ พระธาตุบางองค์จะต้องใช้น้ำจากแหล่งพิเศษอย่างเช่นการสรงน้ำพระธาตุศรีจอม ทอง ใช้น้ำแม่กลางเจือด้วยน้ำหอมหรือแก่นจันทร์
          กล่าวได้ว่าคติการบูชาพระธาตุปีเกิดและตำนานที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงการ แพร่กระจายของพุทธศาสนา ในดินแดนไทยมาแต่โบราณ นอกจากนี้การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ยังสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนเมืองต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยที่มีกลุ่มชนมากมายอาศัยอยู่ โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจ
การเดินทางท่องเที่ยวไหว้พระธาตุปีเกิดมีความสะดวกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระธาตุส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ จึงสามารถจัดเส้นทางสำหรับไหว้พระธาตุในจังหวัดใกล้เคียงได้ เช่น เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง หรือเชียงราย-น่าน-แพร่ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้อิ่มใจในบุญกุศล ทว่ายังได้ชมศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย 
 
ขอบคุณบทความดีดี จาก ททท.

วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

ประวัติวันสงกรานต์

ประวัติวันสงกรานต์



สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูก กำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วัน เถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ





          สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี
         พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ 
            การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ


กิจกรรมในวันสงกรานต์
              การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
การสรงน้ำพระการรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและ กัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระ พุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
               การดำหัว ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อย
                  การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
                  การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

 สิ่ง มหัศจรรย์วัดโพธิ์ 
             เป็นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและสถาบันศาสนา และสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย อีกทั้งอนุรักษ์วิถีความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรมไทยรวมทั้งสร้างกิจกรรมส่ง เสริมการท่องเที่ยวในยามค่ำคืนในเขตโบราณสถานในกรุงเทพมหานคร



สิ่งมหัศจรรย์ทั้ง 9 สิ่ง ได้แก่
 
1. มหัศจรรย์พระไสยาส  พระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษ คือ มีประดับมุกภาพมงคล 108 ประการที่พระบาท
 
2. มหัศจรรย์ตำราเวชเชตุพน   ศาลาจารึกตำรานวดแผนโบราณ   มีจิตรกรรมลายเส้นบอกตำแหน่งนวด นับเป็นบันทึกที่รวบรวมสรรพวิชาทั้งการแพทย์ การเมือง การปกครอง ประวัติการสร้างวัด และ วรรณคดี นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ
 
3. มหัศจรรย์มหาเจดีย์ สี่รัชกาล  เป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ องค์พระเจดีนั้นเป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ อันประกอบด้วย พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 – 4
 
4. มหัศจรรย์ต้นตำนานสงกรานต์ไทย  คติความเชื่อตำนานสงกรานต์ ซึ่งรัชกาลที่ 3 ให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดโพธิ์ เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว โดยสมมุติผ่านเรื่องราวธรรมบาลกุมารและนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวัน ในสัปดาห์
 
5. มหัศจรรย์มรดกโลกวัดโพธิ์    ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงให้นำองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทยเช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี วรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนฯลฯ จารึกลงบนแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามบริเวณผนังภายในวัดซึ่งความรู้ที่จารึกไว้ บนแผ่นศิลาในปัจจุบันรวมเรียกว่า ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน โดยองค์การยูเนสโกมีมติรับรองขึ้นทะเบียนศิลาจารึกพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก
 
6. มหัศจรรย์ตำนานยักษ์วัดโพธิ์  บอกเล่าเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิด ท่าเตียนในปัจจุบัน
 
7. มหัศจรรย์ผ่านภพรัตนโกสินทร์   พระอุโบสถหลังเก่าของวัดโพธารามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังการสถาปนาพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดพระเชตุพนแล้ว จึงได้ลดฐานะเป็นศาลาการเปรียญ โดยภายในมี "พระพุทธศาสดา” ประดิษฐานเป็นพระประธาน
 
8. มหัศจรรย์วิจิตรพระพุทธเทวปฏิมากร  ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า ด้วยประสงค์ตั้งมั่นแน่วแน่ว่า นี่จะเป็นพระนครอย่างถาวร
 
9. มหัศจรรย์ต้นตำรับนวดแผนไทย  รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการครั้งกรุง ศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำรินำเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถแก้เมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และประยุกต์กับคติไทยที่ยกย่องฤษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ เป็นรูปฤาษีดัดตน แสดงท่าไว้ที่วัดเพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียนและรักษาโรคได้ อย่างกว้างขวาง
 
 คนไทยเข้าชมฟรี ชาวต่างชาติ คนละ 50 บาท 
เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 8.00-21.00 น. ทุกวัน

วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

มหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร

กำหนดจัดงาน
วันที่ 10 - 15 เมษายน 2553

พื้นที่จัดงาน
บริเวณ 9 พระอารามหลวง และพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์


กิจกรรมในงาน
• การจำลองสงกรานต์ 4 ภาค กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป 4 ภาค 
การสาธิตทำอาหารและขนมพื้นบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรมจากภาคต่างๆ


กิจกรรม Hi-Light

 สงกรานต์ 9 วัด กับไหว้พระขอพร  9 พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร
กำหนดจัดงาน วันที่ 10 - 15 เมษายน 2553 (สงกรานต์ 9 วัด)

(ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง วันที่ 10 – 18 เมษายน 2553)
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) 
2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) 
3. วัดสุทัศน์เทพวรารามวรมหาวิหาร 
4. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 
5. วัดบวรนิเวศวิหาร 
6. วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร 
7. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร 
8. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) 
9. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร


  
กิจกรรมภายในงาน
ร่วมแต่งผ้าไทยไปไหว้พระเก้า วัดเพื่อความเป็นสิริมงคล ในช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์  ร่วมงานบุญ สรงน้ำพระ และเล่นน้ำสงกรานต์ในย่านชุมชนต่างๆ

1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
คติ : แก้วแหวนเงินทองไหลมาเทมา
ไหว้พระขอพรพระแก้วมรกต สรงน้ำพระพุทธรูป รับน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงปีใหม่ไทย

2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
คติ : ร่มเย็นเป็นสุข

สงกรานต์ 4 ภาค (ภาคเหนือ : ปีใหม่เมือง  ภาคกลาง : เถลิงศก ภาคอีสาน : บุญเดือนห้า  ภาคใต้ : ประเพณีวันว่าง) เล่นน้ำสงกรานต์กับช้างและถนนสายน้ำ (ข้าวสาร) ไหว้พระขอพรและสรงน้ำพระประจำวันเกิด สรงน้ำพระนอน ทำบุญก่อเจดีย์ทราย-ไม้คำโพธิ์ วันที่ 10 – 18 เมษายน 2553 เวลา 10.00 – 21.00 น. สรงน้ำพระสงฆ์ วันที่ 13 – 15 เมษายาน 2553 เวลา 17.00 น. พิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ “9 วัด ในโอกาส 50 ปี ททท.” วันที่ 9 เมษายน 2553 เวลา 09.09 นาที จากพระสงฆ์ 9 พระอารามหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พิธีเปิดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ปี 2553 วันที่ 10 เมษายน 2553 เวลา 18.00 – 21.00 น. พิธีสวดนพพระเคราะห์ ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วันที่ 11 เมษายน 2553 เวลา 18.00 น. พิธีสวดพระธรรมจักร ณ พระวิหารพระนอน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วันที่ 12 เมษายน 2553 เวลา 17.00 น. กิจกรรม “9 สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์” วันที่ 9 – 18 เมษายน 2553 เวลา 10.00 – 21.00 น.

3. วัดสุทัศนเทพวราราม
คติ : ไหว้พระวัดสุทัศนฯ วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป
พิธีบวงสรวงท้าวกบิลพรหม (เสาชิงช้า) ไหว้พระขอพร สรงน้ำพระพุทธ สรงน้ำพระสงฆ์ ก่อเจดีย์ทราย สวดมนต์เย็น การแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคใต้และอาหารภาคใต้

4. วัดสระเกศ
คติ : เสริมสร้างความคิด อันเป็นสิริมงคล
สงกรานต์ภาคกลางในบรรยากาศ งานวัดย้อนยุค การละเล่นโบราณต่าง ๆ มากมาย ไหว้พระขอพร สรงน้ำเจดีย์ภูเขาทอง สรงน้ำพระพุทธ สรงน้ำพระสงฆ์ ก่อเจดีย์ทราย ก่อเจดีย์ภูเขาทองด้วยข้าวสาร การแสดงศิลปวัฒนธรรมและอาหารคาว-หวาน เสน่ห์ของภาคกลาง

5.วัด บวรนิเวศวิหาร
คติ : พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต
สงกรานต์วัดบวรฯ ผสมผสานความร่วมมือชุมชนย่านบางลำพู (ชาวบ้าน วัด และโรงเรียน) ไหว้พระขอพร พิธีทำบุญตักบาตร สวดมนต์ สรงน้ำพระพุทธไพรีพินาศ สรงน้ำพระสงฆ์ ย้อนรำลึกชุมชนบางลำพูในอดีตสู่ปัจจุบัน ส่งอาหารการกินขึ้นชื่อบางลำพู กิจกรรมของสงฆ์วัดบวรฯ และกิจกรรมดนตรีไทยจากโรงเรียนในย่านบางลำพู สวดมนต์พระธรรมขันธ์ (วันที่ 13 เมษายน 2553) การแสดงศิลปวัฒนธรรมเหนือผสมผสานกับบางลำพู และอาหารดังย่านบางลำพู

6. วัดชนะสงคราม
คติ : มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
สงกรานต์ภาคตะวันออกผสมผสานงานสงกรานต์ถนนข้าวสาร ไหว้พระขอพ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ก่อเจดีย์ทราย การแสดงศิลปวัฒนธรรม สาธิตศิลปหัตถกรรม อาหารคาว-หวาน

7. วัดระฆังโฆสิตาราม
คติ : มีคนนิยมชมชื่น

ไหว้พระขอพร สงกรานต์ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธ-พระสงฆ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ปล่อยนกปล่อยปลา

8. วัดอรุณราชวราราม
คติ : ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน
ไหว้พระขอพร สงกรานต์ร่วมกับชุมชนบางกอกใหญ่ สรงน้ำพระพุทธและพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ก่อเจดีย์ทราย การแสดงศิลปวัฒนธรรม (บ้านสมเด็จฯ) กิจกรรมร่วมเฉลิมฉลอง 50 ปี ททท. (ถ่ายรูปคู่กับเจดีย์วัดอรุณราชวราราม)

9. วัดกัลยาณมิตร
คติ : เดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรีที่ดี
ไหว้พระขอพร ก่อเจดีย์ทรายพระธาตุประจำปีเกิด ทำบุญตักบาตร

• กิจกรรมรณรงค์ "แต่งไทยเล่นน้ำสงกรานต์แบบวิถีไทย"  บริเวณถนนข้าวสาร โดยให้มีการรณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างถูกวิธี

• กิจกรรมสงกรานต์ถนนข้างสาร - บางลำพู - วิสุทธิกษัตริย์ บริเวณสวนสันติชัยปราการ ถนนข้าวสาร ถนนพระอาทิตย์ บางลำพู และวิสุทธิกษัตริย์ 
วันที่ 12 - 14 เมษายน 2553

ขอบคุณข้อมูล ททท.

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

เที่ยวกับสยามบุรีพร้อมกระเป๋าแบบใหม่สไตล์เก๋ๆ

วันนี้นำมาให้ชมเรียกน้ำย่อยกันก่อน 3 แบบ 3 สไตล์ เป็นเจ้าของง่ายๆแค่เพียงคุณเลือกเที่ยวกับเราสิ่คะ


วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

เมื่อวานนี้ดูสถานบอกรักกันไปแล้ว วันนี้มาดูสถานที่ขอแต่งงานกันบ้างดีกว่า

ขึ้นบอลลูนที่ดอยสะเก็ด  เชียงใหม่

ท่ามกลางสรรพสิ่งเงียบงัน พระจันทร์ยังลอยดวงอยู่กลางผืนฟ้ากำมะหยี่สีดำ บอลลูนค่อยค่อยลอยตัวสูงขึ้นสู่ท้องนภา พร้อมกับแสงแรกแห่งวันเริ่มแตะขอบฟ้า มองลงไปยังผืนแผ่นดินเบื้องล่างเห็นได้ว่าความมืดแห่งรัตติกาลกำลังคลี่คลาย แทนที่ด้วยสีสันของวันใหม่ซึ่งตื่นจากหลับไหล นาข้าวสีทองแผ่ไพศาลสลับสีเขียวสดชื่นของต้นไม้และใบหญ้า สายน้ำปิงไหลลัดเลาะผ่านขุนเขาส่องประกายระยิบระยับล้อแสงตะวัน แว่วเสียงนกร้อง ไก่ขัน พัดมากับสายลมหนาว
เปิดแชมเปญเย็นสดชื่นรับวันใหม่ รินใส่แก้วใสแล้วส่งให้เธอพร้อมแหวนเพชรที่ส่องประกายแข่งกับพรายฟอง ดื่มด่ำความหอมหวานพร้อมอิ่มเอมกับฉากสวยแห่งธรรมชาติ ฉลองการเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน
Note
ขึ้นบอลลูนชมทิวทัศน์เชียงใหม่บนดอยสะเก็ดในฤดูหนาว เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยวผู้พิสมัยความอิ่มเอมของ ธรรมชาติ ในหนึ่งคอร์สจะรวมแชมเปญและอาหารเช้า พร้อมใบรับรองการขึ้นบินสำหรับทุกคน ใช้เวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมง

La Vue กรุงเทพฯ


ตวัดปลายพู่กัน ระบายอารมณ์หวานให้ทั่วห้องที่มองเหมือนผืนภาพศิลป์ สีสันอันทรงพลังทั้งแดง น้ำเงิน ม่วง เพิ่มความกล้าหาญให้หัวใจซึ่งกำลังสั่นไหว สีสันทั้งหลายสะท้อนจางอยู่บนผนังกระจก ที่เมื่อมองผ่านออกไปยังอีกฟากฝั่ง จะเห็นแสงสีแห่งรัตติกาลของเกาะรัตนโกสินทร์แผ่กว้างเต็มกรอบสายตา
ในขณะที่เธอกำลังเหม่อมองแสงไฟระยับพราวแข่งกับแสงดาวบนฟากฟ้า จุดแสงสะดุดตาแสงหนึ่งก็ส่องวาบเข้ามาในกรอบภาพ คือวาวแสงจากแหวนที่คุณจะมอบให้เธอในค่ำคืนนี้ แทนความผูกพันที่จะมีต่อกันในวันข้างหน้า
Note
La Vue เป็นห้องอาหารยุโรปบนดาดฟ้าโรงแรม siam @ siam ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ เป็นหนึ่งในมุมชมทัศนียภาพกรุงเทพฯ ยามราตรีที่สวยที่สุด

อ่าวกิ่ว  ระยอง


ที่สุดของฉากแห่งความประทับใจที่จะสรรสร้างช่วงเวลาสำคัญ อาจมีหลายเหตุผลให้เลือกสรร เกาะเสม็ดนั้นควรค่าในด้านที่มีบรรยากาศสงบเป็นส่วนตัวในแวดล้อมของธรรมชาติ อันงดงาม และอ่าวกิ่ว อ่าวสุดท้ายของเกาะสวรรค์แห่งนี้คือความโดดเด่นเป็นที่สุดของท้องทะเลไทย ด้วยความโค้งของอ่าวก่อเกิดเป็นชายหาดสองด้านซึ่งให้ทัศนียภาพรุ่งอรุณและ อาทิตย์อัสดง
การที่ได้มาอยู่บนอ่าวที่ให้ความงามจับตาสองอารมณ์ในสองช่วงเวลา แฝงสัญลักษณ์ของการหล่อหลอมสองสิ่งที่แตกต่างเข้าด้วยกัน เฉกเช่นคนสองคนที่โคจรมาพบกันตรงจุดศูนย์กลางแห่งความรัก
Note
นอกจากอ่าวกิ่วจะเป็นมุมมองพิเศษสุดของเกาะเสม็ดแล้ว บนอ่าวนี้ยังเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทหรูที่สุดของเกาะ คือ Paradee Resort สำหรับใครที่กำลังมองหาที่พักอันรื่นรมย์


ขอบคุณบทความดีดีจาก http://www.romanticproposalinthailand.com

วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553

สถานที่บอกรักในแต่ละภาคของไทย...ขำขำ

กรุงเทพฯ
       รถไฟฟ้าบีทีเอส

                     กระซิบข้างหูเบาๆ ท่ามกลางผู้โดยสารนับร้อยว่า “เรารักเธอนะ”
           Romance Tips สำหรับใครที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้เรื่อง ‘รถไฟฟ้า มาหานะเธอ’ คงประทับใจในความรักแบบกุ๊กกิ๊กของคุณลุง (เคน-ธีรเดช) และ เหม่ยลี่ (คริส หอวัง) กันเป็นทิวแถว หากเราจะแนะนำให้คุณไปบอกรักกันบนรถไฟฟ้าบ้าง คงจะยังไม่เอ้าท์จนเกินไป
การกระซิบบอกรักกันบนรถไฟฟ้าน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้คนรักของคุณ ประทับใจได้ไม่น้อย (สักขีพยานเยอะดี) แต่ถ้าให้เลือกสถานีบอกรักที่ชื่อเป็นมงคลสักหน่อย เห็นคงต้องเลือก ‘สถานีเพลินจิต’ ที่สื่อว่าความรักของคุณจะได้มีแต่เรื่องชุ่มชื่นหัวจิตหัวใจ หรือไม่ก็ ‘สถานีอารีย์’ ที่สื่อว่าคู่ของคุณจะได้เอื้ออารีย์กันและกันไปตราบนานเท่านาน แต่ถ้าไม่ได้คิดอะไรมากจะเลือกบอกรักสถานีไหนก็คงขึ้นอยู่กับความสะดวกของ แต่ละคน แต่จะยังไงก็ช่าง เราแค่หวังว่าคงไม่มีคู่รักคู่ไหนเลือกไปบอกรักกันที่ ‘สถานีสะพานควาย’ นะ เอ๊ะ…หรือว่ามี!!! 

ภาคกลาง
        เพลินวาน ประจวบฯ
              
             "รักเราไฉไลสไตล์เรทโท" น่าถูกใจคอเรทโททั้งหลาย (ไม่ใช่เรทโทเรียนนะ)
สำหรับคอมเพล็กซ์สุดเก๋ภายใต้ชื่อ เพลินวาน ดินแดนที่พาคุณย้อนกลับไปสัมผัสความสุขในวันวานอย่างเต็มรูปแบบ โดยถ้าจะให้แนะนำสถานที่บอกรักที่เหมาะที่สุดในเพลินวาน เห็นจะมีลานหนังกลางแปลงที่ถึงแม้ชื่อจะฟังดูพื้น แต่บรรยากาศไม่พื้นสมชื่อ
        "เบื้องหน้าที่แายหนังในดวงใจ มองขึ้นไปประกายดาวเต็มท้องฟ้า เขียนดน๊ตตัวเล็กๆรำคาญตาว่า รักเธอสุดหัวใจ"
นิยามของเพลินวาน:ศูนย์รวมความสุข สถานที่หยุดเวลาในอดีต เพื่อเล่าขานเรื่องราวมากมายของวิถีหัวหินกาลก่อน...สู่กาลปัจจุบัน

 ภาคเหนือ
        ล่องแพแม่น้ำปาย แม่ฮ่องสอน

            "รักนะ..ล่องน้ำ" ที่สุดแห่งความโรแมนติก หากคุณและคู่รักพร้อมที่จะเปิดมุมมองประสบการณ์ความโรแมนติกครั้งใหม่โดยการล่องแพที่แม่น้ำปายแห่งนี้ อ.ปาย เ็ป็นอำเภอที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความความโรแมนติก และการล่องแพที่แม่น้ำปาย เป็นหนึ่งตัวเลือกในการสรรสร้างความโรแมนติกของคู่รักทั้งคู่ ที่ต้องการมองเห็น ปาย ในมุมมองที่แตกต่าง จะโรแมนติกสักแค่ไหน หากคุณและคู่รักนั่งหย่อนเท้าลงไปในน้ำ และปล่อยให้แพไม้ไผ่พาคุณล่องไป

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     เชียงคาน  เลย

            "ไปเปิดบริสุทธิ์กัน"  อย่าเพิ่งตกใจ กับคำว่าเปิดบริสุทธิ์ฟังดูน่าพิลึก หากคุณจะเอ่ยชานคู่รักมาที่เชียงคาน ขอเน้นย้ำให้คุณอธิบายความหมายของคำว่าเปิดบริสุทธิ์กับสถานที่แห่งนี้ให้คนรักได้เข้าใจ หากคุณและคู่รักหลงใหลในความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ความเงียบสงบ และความโรแมนติกเมืองเล็กๆ ผู้คนน่ารัก อัธยาศัยดี ที่พร้อมจะต้อนรับทุกคู่รักแห่งนี้ มีคำตอบมนต์เสน่ห์แห่งความบริสุทธิ์ของเมืองเล็กๆแห่งนี้ที่จะทำให้คุณทั้งสองอบอุ่นหัวใจไปแสนนาน 

ภาคตะวันออก 
          หาดคลองพร้าว เกาะช้าง จังหวัดตราด

            "หาดทราย ความรัก อ้อมกอด สองเรา"  นอกจากน้ำตกคลองพลูแล้ว เกาะช้างยังมีหาดคลองพร้าว อีกหนึ่งสถานที่บอกรักสุดโรแมนติกในยามอาทิตย์อัสดง ด้วยความที่หาดแห่งนี้มีแหลมยาวยื่นออกไปในทะเลสามารถมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ คุณและคนรักยืนอยู่ที่ปลายแหลมเหนือพื้นทะเลในขณะที่ดวงอาิทิตย์เบื้องหน้ากำลังเคลื่อนตัวลงอย่างช้าๆ ถือโอกาสนี้เอ่ยปากบอกความในใจ แล้วค่อยๆโถมเข้าสวมกอดคนรักในสภาพที่หัวใจอิ่มเอมสุดๆ

ภาคใต้
      หินตาหินยาย  สุราษฯ

         "รักครั้งนี้จะมั่นคงดั่งรักของตากับยาย"  เรามีไอเดียกิ๊บเก๋ในการบอกรักที่หินตา หินยายมานำเสนอ ขอเพียงคุณทำตามขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้
       A: ให้ฝ่ายชายปีนก้อนหิน(อาจทุลักทุเลสักหน่อย) ไปยืนเคียงข้างหินตาที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางหินเล็กหินใหญ่นับร้อยก้อน ส่วนฝ่ายหญิงให้ไปยืนอยู่เหนือหินยายที่น้ำทะเลซัดเข้าหาฝั่งอยู่เป็นระลอก(ระวัเปียกด้วยหล่ะ)
       B: ให้ฝ่ายที่ต้องการจะบอกรักรวบรวมพลังลมปราณจากตาตุ่มแล้วตะโกนบอกรักอย่างสุดแรงเกิดจากหินตาสู่ยาย (หรือไม่ก็หินยายสู่หินตา) เช่น ผมรักคุณครับ ฉันรักเธอนะ หรือถ้าจะเอาสรรพนามสมัยพ่อขุนรามคำแหงมาใช้ก็น่าจะเป็นการบอกรักที่เป็นกันเองและซาบซึ้งได้ไม่แพ้กัน
      C: คาดหวังปฏิกิริยาตอบรับจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเราเองก็สามารถบอกคุณได้เหมือนกัน

ขอบคุณบทความดีดีจาก ททท.

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

เส้นทางเที่ยวใกล้กรุง 12 ที่ 12 เดือน


หมู่บ้านไม้ ดอกไม้ประดับ

หมู่บ้านไม้ ดอกไม้ประดับ

1. กรุงเทพฯ-นครนายก

          หมู่บ้านไม้ ดอกไม้ประดับ คลอง 15 เส้นทางสายดอก ไม้ที่ยาวและใหญ่มากที่สุดใน ประเทศไทย ระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร รวมเนื้อที่กว่า 900 ไร่ เป็นทั้งแหล่งเพาะพันธุ์พืช ไม้ดอก ไม้ประดับต่าง ๆ พืชสวนครัว สมุนไพรไทย สวนไม้ หอม สวนไม้มงคล ฯลฯ ที่เพาะชำ ทาบกิ่ง ติดตา ล้อมราก ซึ่งจัดส่งไปยังแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ และต่างประเทศ แถมยังขายราคาไม่แพงอีกด้วย

       
ตลาดร่มหุบ

ตลาดร่มหุบ

2. กรุงเทพ-สมุทรสงคราม

          ตลาดร่มหุบ หรือ อีกชื่อหนึ่งว่า ตลาดแม่กลอง แต่ชาว บ้านมักจะเรียกว่า ตลาดเสี่ยงตาย เพราะเป็นตลาดที่ติดอยู่ กับสถานีรถไฟแม่กลอง เป็นตลาดที่อยู่บนทางรถไฟสายแม่กลอง บ้านแหลม พ่อค้าแม่ค้า จะตั้งแผงสองข้างทางรถไฟ ส่วนลูกค้าก็อาศัยทางรถไฟเป็นถนนสำหรับจับจ่ายซื้อสินค้า และไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พ่อค้า แม่ค้า จะจัดกระจาด กระบุง ตะกร้า เข้า ๆ ออก ๆ จากบริเวณทางรถไฟในเวลาแค่พริบตา ด้วยรถไฟขบวนนี้เป็นสายสั้น ทำให้ต้องพร้อมจัดเก็บจัด วางสินค้าอย่างฉับไวเสมอ ซึ่งก็เป็นเสน่ห์ของความสนุก สนานอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสนั่นเอง

       
พิพิธภัณฑ์บัว

พิพิธภัณฑ์บัว

3. กรุงเทพฯ-ปทุมธานี

          พิพิธภัณฑ์บัว แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวบรวมพันธุ์บัวต่าง ๆ ทั้งของ ไทย ต่างประเทศ และพันธุ์ลูกผสม เอาไว้มากกว่า 100 สาย พันธุ์ รวมถึงบัว “มังคลอุบล” ที่ได้รับรางวัล Best New Hardy Waterlily 2004 ในการประกวดบัวโลกครั้งที่ 19 ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมี “บัวจงกลนี” บัวไทยแท้ตั้งแต่ สมัยสุโขทัย มีให้ชมแห่งเดียวในโลก เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.



ล่องเรือชมปลาโลมา

ล่องเรือชมปลาโลมา

4. กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา

          ล่องเรือชมปลา โลมา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ของทุกปี บริเวณตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จะได้พบกับ ปลาโลมาพันธุ์ต่าง ๆ กระโดดเหนือน้ำ ซึ่งอพยพจากอ่าวไทย มาอยู่บริเวณนี้จำนวนมาก ซึ่งสามารถล่องเรือเข้าไปชมปลาโลมาได้อย่างใกล้ชิด พร้อมชมระบบนิเวศป่าชายเลน เกาะกลางแม่น้ำ และนกนานาชนิดให้ได้ตื่นตาตื่นใจกัน

         
ถ้ำเขาบิน

ถ้ำเขา บิน

5. กรุงเทพฯ-ราชบุรี

          ถ้ำเขาบิน ถือเป็นถ้ำแรกที่มีการจัดแสงสีภายในถ้ำเป็นแห่ง แรกในประเทศไทย ความลึกจากปากถ้ำถึงบริเวณลึกสุด ประมาณ 300 เมตร แบ่งออกเป็นคูหาตามลักษณะหินงอก หินย้อยวิจิตรตระการตา ภายในถ้ำแบ่งออกเป็น 8 คูหา คือ ศิวสถาน โถงอาคันตุกะ ธารอโนดาต สกุณชาติคูหา เทว- สภาสโมสร กินนรทัศนา พฤกษาหิมพานต์ และอุทยานทวย เทพ

          ภายในถ้ำมีการจัดระเบียบทางเดินอย่างดี และจัดแสงไฟตามกลุ่ม หินย้อยต่าง ๆ เพื่อเสริมจินตนาการให้แก่ผู้มา เที่ยวชม ซึ่งที่ได้ชื่อว่า “ถ้ำเขาบิน” เพราะมีหินงอกหินย้อยรูปพญา อินทรีกางปีกดูสง่างาม และภายในถ้ำยังมีบ่อน้ำแร่เล็ก ๆ ที่ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยเปิดให้เข้าชมทุก วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ส่วนวันเสาร์- อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.

        
เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด

6. กรุงเทพฯ-นนทบุรี

          เกาะเกร็ด เกาะกลางลำน้ำเจ้าพระยาแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา ท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยมอญสุดฮอต มีพื้นที่ มากกว่า 2,498 ไร่ เป็นศูนย์รวมสินค้าหัตถกรรม อาหาร ขนมโบราณ สถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ พร้อมสถานที่สำคัญที่ ไม่ควรพลาด เช่น พระวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ สมัยอยุธยาตอนปลาย กวานอาม่านพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดิน เผา คลองขนมหวาน ท่ามกลางทัศนียภาพที่สวยงาม ซึ่ง สามารถเลือกเดินชมรอบ ๆ ได้ หรือจะนั่งเรือชมวิถีชีวิตก็มี บริการไว้รองรับเต็มที่ เกาะเกร็ดเปิดให้บริการทุกวัน เริ่ม ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00-17.30 น.

        
ตลาดบางน้ำผึ้ง

ตลาดบางน้ำผึ้ง

7. กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ

          ตลาดบางน้ำผึ้ง ตลาดน้ำแห่งใหม่ใกล้กรุงเทพฯ เสน่ห์ของ ที่นี่คือวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของ ชาวบ้านริมคลอง เป็นตลาดที่ ขายความเป็นท้องถิ่น ด้วยผัก ผลไม้ ขนม อาหาร และสินค้า อื่น ๆ ล้วนเป็นของชาวบ้านนำออกมาขายในราคาเป็นกัน เอง เช่น ผักบางอย่างราคาแค่บาทสองบาท ซึ่งหาซื้อจากที่ไหนไม่ได้แล้ว ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายของสายน้ำ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง เปิดให้บริการมี เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป

         
วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ

8. กรุงเทพ-อยุธยา

          วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัย อยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลของปรางค์ขอมปนอยู่ชั้นล่างก่อ สร้างด้วยศิลาแลงแต่ที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สิ่งที่น่า สนใจในวัดจะมีเศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรากไม้ปกคลุมเข้าใจ ว่าเศียรพระพุทธรูปนี้หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.

        
หัวหิน

หัวหิน

9. กรุงเทพ-ประจวบคีรีขันธ์

          หัวหิน สถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก ด้วยเสน่ห์ของชายหาด หัวหิน ที่มีหาดทรายขาวสะอาดยาวสุดลูกหูลูกตา ไม่มีถนน เลียบชายหาดให้ยวดยานวิ่งพลุกพล่านอย่างหาดทั่วไป จึงทำให้หัวหินสงบเงียบเหมาะในการมาพักผ่อนตากอากาศ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฝันติดอันดับทุกยุคทุกสมัย

        
       

ปราสาทสัจธรรมไม้

ปราสาทสัจธรรมไม้

10. กรุงเทพฯ-ชลบุรี

          ปราสาทสัจธรรม ไม้ ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจินตนาการที่ ริมขอบฟ้าสูงตระหง่าน ที่ช่างบรรจงสลักเสลาจากวัสดุไม้ อย่างเดียว โดยไม่ใช้ตะปูตอกสักดอก ไม่มีโลหะหรือปูนเข้ามาปะปน ยกเว้นส่วนฐานที่เป็นคอนกรีต แกะสลักลวด ลายอย่างวิจิตรพิสดารทั้งภายนอกและภายใน จนกล่าวกัน ว่างามดั่งเทพนฤมิต เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ถึง 17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 500 บาท

         

ตลาดสามชุก

ตลาดสามชุก

11. กรุงเทพ-สุพรรณบุรี

          ตลาดสามชุก หรือ ตลาดริมน้ำร้อยปี เป็นชุมชนชาว จีนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพบ้านเรือนแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยชาวบ้านรวมตัวกันฟื้นฟูตตลาดเก่าให้เป็นตลาดเชิง อนุรักษ์ เพื่อให้ท่องเที่ยวได้ศึกษาวิถีชีวิตดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ชุมชน ที่ยังคงเรื่องราวต่าง ๆ เอาไว้ให้ คนรุ่นหลังได้เห็นกันมากมาย และยังเป็นแหล่งขนมหวาน อาหารอร่อย ในบรรยากาศเรียบง่ายสบาย ๆ ที่ใครมาเที่ยวก็ต้องประทับใจกลับไปทุกครั้ง

        


อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

12. กรุงเทพ-เพชรบุรี

          อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน อุทยานที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย ที่ยังคงสภาพป่าดงดิบตาม ธรรมชาติได้อย่าง สมบูรณ์ ถือเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย ซึ่งพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า พืชพันธุ์ไม้นานาชนิด มีทะเล สาบ น้ำตก ถ้ำ ให้เลือกท่องเที่ยวเลือกชมมากมาย ช่วงที่ดี ที่สุดในการเดินทางมาเที่ยว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายน- พฤษภาคม เปิดทำการตั้งแต่เวลา 8.30 น. จนถึง 16.30 น. ซึ่งมีบริการรองรับนักท่องเที่ยวแบบครบวงจรไว้คอยต้อนรับ

        

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

หมู่บ้านชิราคาวาโกะ (Shirakawa-go)

      การเดินทาง สามารถใช้ทางด่วนที่เพิ่งสร้างเสร็จ ระหว่างชิราคาวาโกะ และฮิดะ-คิโยมิ ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา ผลที่ได้คือระยะเวลาในการเดินทางจากบริเวณด้านตะวันออกของญี่ปุ่นสู่ชิราคา วาโกะ จะลดลงระยะเวลาการเดินทางด้วยรถประจำทางระหว่างทาคายามา (Takayama) และชิราคาวาโกะ จาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 50 นาที ส่วนการเดินทางด้วยรถประจำทาง (Nohi Bus) ผ่านทาคายามาจะให้บริการรถประจำทาง 8-9 คันต่อวัน ระหว่างทาคายามาและ ชิราคาวาโกะ การเดินทางเที่ยวเดียวใช้เวลาประมาณ 50 นาที ราคา 2,400 เยน สำหรับราคาค่าเดินทางแบบไปกลับ ราคา 4,300 เยนและไม่สามารถใช้บัตรโดยสาร Japan Rail Pass ได้
shirakawa_go01
หมู่บ้านมรดกโลกชิราคาวาโกะและบริเวณ โกคายาม่า ที่อยู่ใกล้กันเป็นหมู่บ้านชาวนาที่ตั้งอยู่ในหุบเขาตามลำน้ำ Shogawa ตามแนวสันเขาที่ทอดยาวตั้งแต่เขตจังหวัด Gifu ถึง Toyama ชิราคาวาโกะ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 1995 มีบ้านแบบกัสโชสึคุริ (Gassho-zukuri) เป็นบ้านชาวนาโบราณที่มีอายุมากกว่า 250 ปี
บ้านในแบบกัสโชสึคุริ บ้านแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ชื่อนี้ได้มาจากคำว่า “กัสโช” ซึ่งแปลว่า “พนมมือ” ตามรูปแบบของบ้านที่หลังคาชันถึง 60 องศา มีลักษณะคล้ายสองมือที่พนมเข้าหากัน ตัวบ้านมีความยาวประมาณ 18 เมตร และมีความกว้าง 10 เมตร ซึ่งมีโครงสร้างของบ้านสร้างขึ้นโดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียวอีกทั้งวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้างต่างๆ ล้วนแต่มาจากวัสดุจากธรรมชาติทั้งสิ้น อย่างต้นหญ้าที่ปลูกไว้เพื่อนำมาใช้มุงเป็นหลังคาขนาดหนาแต่ยังคงความแข็ง แรงสามารถรองรับหิมะที่ตกมาอย่างหนักในช่วงฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี
shirakawa_go02
หมู่บ้านเหล่านี้ อยู่บนภูเขาในพื้นที่ห่างไกล บนพื้นที่ราบสูงฮิดะ (Hida) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1995 พื้นที่ของหมู่บ้านท่ามกลางหุบเขา และธรรมชาติของใบไม้ที่ผลิใบสีเขียวสดใสในฤดูใบไม้ผลิ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงในฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาวที่หมู่บ้านถูกปกคลุมไปด้วยสีขาวหมดจดของหิมะ หมู่บ้านมีความเป็นมาและคงความเป็นอยู่ดังมนต์ขลังแห่งเทพนิยาย ลักษณะของบ้านที่สร้างตามแบบเฉพาะนี้ (Gassho Style) มีหลังคาเป็นสามเหลี่ยมทรงสูงคล้ายลักษณะการพนมมือ เมื่อยามที่สวดมนต์ โครงสร้างภายในจะเป็นหลายชั้น อาจเป็น 3 หรือ 4 ชั้น มีรายละเอียดพิถีพิถัน และมีลักษณะเฉพาะออกไปตามการใช้งาน และแสดงถึงความชาญฉลาดของผู้ปลูกสร้าง และอยู่อาศัย ภายในจะมีผ้าไหมที่รอปูรองไว้เพื่อให้ความอบอุ่นเมื่อยามหน้าหนาวมาเยือน ที่พื้นบ้านในชั้นแรกหลังคาที่มีมุมประมาณ 60 องศา เพื่อให้หิมะไหลได้ง่ายป้องกันการทับถมของหิมะในยามที่หิมะตกหนัก
shirakawa_go03
จุดท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในการสัมผัส บรรยากาศคือการพักค้างคืนในหมู่บ้านชาว นา มีบ้านหลายๆ หลังเปิดให้เป็นที่พักในแบบที่เรียกว่า Minshuku โดยเฉพาะที่ Ogimachi เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่สุดของชิราคาวาโกะ บ้านวาดะ (Wada) และ บ้านนางาเสะ (Nagase) ในโอกิมาชิ (Ogimashi) เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อที่จะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ว่าชาวบ้าน ดำรงชีวิตอย่างไรในอดีตที่ผ่านมา  โดยเฉพาะในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน สิงหาคมทุกปี จะมีประเพณีลุยน้ำ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากที่ โกคายาม่า (Gokayama) มี หมู่บ้านอาอิโนะคุระ (Ainokura) ที่ซึ่งหมู่บ้านตั้งตระหง่านท้าทายขุนเขาอยู่ตลอดเวลา และ หมู่บ้านสุกะนุมะ (Suganuma) กับบ้าน 9 หลังที่รวมอยู่ในบ้าน 2 หลัง เป็นสิ่งล้ำค่าที่จะได้มาสัมผัสกับบ้านที่เป็นวัฒนธรรมอันเก่าแก่ และมีค่าของญี่ปุ่นนี้ จุดชมวิวของ ปราสาทโอกิมาชิ (Ogimashi) ได้รับความนิยมมากสำหรับการชมทัศนียภาพของหมู่บ้านชิราคาวาโกะ จะสามารถมองเห็นหมู่บ้าน 59 หลังคาเรือน จุดชมวิวนี้เหมาะมากกับการชมภาพมุมกว้างของหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นความเขียวชอุ่มของฤดูใบไม้ผลิ สีน้ำตาลแดงของฤดูใบไม้ร่วง หรือว่าในยามที่มีหิมะตกปกคลุม

ขอบคุณภาพสวยๆ จาก
  • htpp.lhd.nifs.ac.jp
  • commons.wikimedia.org